วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555



ประวัติบาสเกตบอล 


 บาสเกตบอล ( Basketball ) เป็นกีฬาประจำชาติอเมริกัน ถูกคิดขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือบรรดาสมาชิก Y.M.C.A. ได้เล่นกีฬาในฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวสภาพพื้นภูมิประเทศโดยทั่วๆไป ถูกหิมะปกคลุม อันเป็นอุปสรรคในการเล่น
กีฬากลางแจ้ง เช่น อเมริกันฟุตบอล เบสบอล คณะกรรมการสมาคม Y.M.C.A. ได้พยายามหาหนทางแก้ไขให้บรรดาสมาชิกทั้งหลายได้เล่นกีฬาในช่วงฤดูหนาวโดยไม่บังเกิดความเบื่อหน่าย


ในปี ค.ศ.1891 Dr.James A.Naismith ครูสอนพลศึกษาของ The International Y.M.C.A. Training School อยู่ที่เมือง Springfield รัฐ Massachusetts ได้รับมอบหมายจาก Dr.Gulick ให้เป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาในร่มที่เหมาะสมที่จะใช้เล่นในช่วงฤดูหนาว Dr.James ได้พยายามคิดค้นดัดแปลงการเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลและเบสบอลเข้าด้วยกันและให้มีการเล่นที่เป็นทีม
ในครั้งแรก Dr.James ได้ใช้ลูกฟุตบอลและตะกร้าเป็นอุปกรณ์สำหรับให้นักกีฬาเล่น เขาได้นำตะกร้าลูกพีชไปแขวนไว้ที่ฝาผนังของห้องพลศึกษา แล้วให้ผู้เล่นพยายามโยนลูกบอลลงในตะกร้านั้นให้ได้ โดยใช้เนื้อที่สนามสำหรับเล่นให้มีขนาดเล็กลงแบ่งผู้เล่นออกเป็นข้างละ 7 คน ผลการทดลองครั้งแรกผู้เล่นได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น แต่ขาดความเป็นระเบียบ มีการชนกัน ผลักกัน เตะกัน อันเป็นการเล่นที่รุนแรง
ในการทดลองนั้น ต่อมา Dr.James ได้ตัดการเล่นที่รุนแรงออกไป และได้ทำการวางกติกาห้ามผู้เล่นเข้าปะทะถูกเนื้อต้องตัวกัน นับได้ว่าเป็นหลักเบื้องต้นของการเล่นบาสเกตบอล Dr.James จึงได้วางกติกาการเล่นบาสเกตบอลไว้เป็นหลักใหญ่ๆ 4 ข้อ ด้วยกัน คือ
1. ผู้เล่นที่ครอบครองลูกบอลอยู่นั้นจะต้องหยุดอยู่กับที่ห้ามเคลื่อนที่ไปไหน
2. ประตูจะต้องอยู่เหนือศีรษะของผู้เล่น และอยู่ขนานกับพื้น
3. ผู้เล่นสามารถครอบครองบอลไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยคู่ต่อสู้ไม่อาจเข้าไปถูกต้องตัวผู้เล่นที่ครอบครองบอลได้
4. ห้ามการเล่นที่รุนแรงต่างๆโดยเด็ดขาด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่กระทบกระแทกกัน
เมื่อได้วางกติกาการเล่นขึ้นมาแล้วก็ได้นำไปทดลอง และพยายามปรับปรุงแก้กไขระเบียบดีขึ้น เขาได้พยายามลดจำนวนผู้เล่นลงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน จนในที่สุดก็ได้กำหนดตัวผู้เล่นไว้ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดกับขนาดเนื้อที่สนาม
Dr.James ได้ทดลองการเล่นหลายครั้งหลายหน และพัฒนาการเล่นเรื่อยมา จนกระทั่งเขาได้เขียนกติกาการเล่นไว้เป็นจำนวน 13 ข้อ ด้วยกัน และเป็นต้นฉบับการเล่นที่ยังคงปรากฏอยู่บนกระดานเกียรติยศในโรงเรียนพลศึกษา ณ Springfield อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
กติกา 13 ข้อ ของ Dr.James มีดังนี้
1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
2. ผู้เล่นจะส่งบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
4. ผู้เล่นต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล ห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
5. ในการเล่นจะใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี หรือทำการใดๆให้ฝ่ายตรงข้ามล้มลงไม่ได้ ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง ถ้า ฟาวล์ 2 ครั้ง หมดสิทธิ์เล่น จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำประตูกันได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าแตะลูก ถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง
7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
8. ประตูที่ทำได้หรือนับว่าได้ประตูนั้น ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้เด็ดขาด
9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งลูกเข้ามาจากขอบสนามภายใน 5 วินาที ถ้าเกิน 5 วินาที ให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นฝ่ายใดพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาวล์
10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาวล์ และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งลูกเข้าเล่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลาบันทึกจำนวนประตูที่ทำได้ และทำหน้าที่ทั่วไปตามวิสัยของผู้ตัดสิน
12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งๆละ 20 นาที
13. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ในกรณีคะแนนเท่ากันให้ต่อเวลาออกไป และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ
แม้ว่ากติกาการเล่นจะกำหนดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เล่นเพื่อความสนุกสนานในแง่นันทนาการ แต่กีฬานี้ก็ได้รับความนิยมจากเยาวชนอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากเห็นว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้อ่อนแอ และพยายามที่จะพิสูจน์ความเห็นนี้ด้วยการหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้เล่นบาสเกตบอลก็ตาม อย่างไรก็ดี ความรู้สึกเช่นนี้ค่อยๆเริ่มจางหายไปเมื่อความรวดเร็วและความแม่นยำในการเล่นบาสเกตบอล ได้สร้างความประทับใจและดึงดูดความสนใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และได้แพร่กระจายไปทางตะวันออกของอเมริกาอย่างรวดเร็วและเมื่อโรงเรียนต่างๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของกีฬาชนิดนี้ จึงพากันนิยมเล่นไปทั่วประเทศ
ก่อนปี ค.ศ. 1915 แม้ว่าบาสเกตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ก็จำกัดเป็นเพียงการเล่นเพื่อออกกำลังกายในห้องพลศึกษาเท่านั้น ไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบจัดการเล่นเป็นกิจลักษณะ ยกเว้นองค์กรบาสเกตบอลอาชีพที่เกิดขึ้นเพียง 2-3 องค์กรแล้วก็เลิกล้มไป ฉะนั้นการเล่นบาสเกตบอลในแต่ละที่แต่ละแห่งจึงต่างก็ใช้กติกาผิดแผกแตกต่างกันออกไป ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนากีฬาบาสเกตบอลเป็นอย่างมาก
ดังนั้นในปี ค.ศ. 1915 สมาคม Y.M.C.A. สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติและสมาพันธ์กีฬาสมัครเล่น ได้ร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน กติกานี้ไดใช้สืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1938 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นผู้พิจารณา
สหรัฐอเมริกายอมรับการเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1892 ซึ่งได้มีการเล่นบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก สมาคม Y.M.C.A. ได้นำกีฬาบาสเกตบอลไปเผยแพร่ในทุกส่วนของโลก ได้แพร่เข้าไปในประเทศจีนและอินเดียในราวปี ค.ศ. 1894, ฝรั่งเศส ในราวปี ค.ศ. 1895, ญี่ปุ่นราวปี ค.ศ. 1900 เกือบจะกล่าวได้ว่า บาสเกตบอลมีการเล่นในทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และคาดว่าก่อนปี ค.ศ. 1941 มีประชาชนทั่วโลกเล่นกีฬาบาสเกตบอลเป็นจำนวนถึง 20 ล้านคน ในขณะนี้มีผู้นิยมเล่นบาสเกตบอลกันทั่วทุกมุมโลก ไม่น้อยกว่า 52 ประเทศ นอกจากนี้ได้มีการแปลกติกาการเล่นเป็นภาษาต่างๆมากกว่า 30 ภาษา

ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย

กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยใด ปีใดนั้น มิได้มีหลักฐานที่จะปรากฏยืนยันแน่ชัดได้ ทราบแต่เพียงว่า ในปี พ.ศ.2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงธรรมการ ได้จัดการอบรมครูจังหวัดต่างๆจำนวน 100 คน ภายในระยะเวลา 1 เดือน และได้รับความช่วยเหลือจาก พ.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล ผู้ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญทางการเล่นกีฬาบาสเกตบอลคนหนึ่ง ทั้งได้>เคยเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขัน เมื่อครั้งท่านกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีเล่นบาสเกตบอลแก่บรรดาครูที่เข้ารับการอบรม ต่อมาก็เป็นผลทำให้กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามแบบอันถูกต้อง โดยจดทะเบียนที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้กลายมาเป็นสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันนั้นเอง และในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมบาสเกตบอลระหว่างประเทศ

แนะนำอุปกรณ์บาสเกตบอล


สนาม - ขนาด
สนามที่ใช้เล่นบาสเกตบอลจะต้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นเรียบแข็งปราศจากสิ่งกีดขวางใด ๆ ซึ่งสนามที่ใช้แข่งขันโอลิมปิกและชิงแชมเปี้ยนโลกจะต้องมีขนาด ยาว 28 เมตร และกว้าง 15 เมตร โดยวัดจากขอบในของเส้นเขตสนาม
สำหรับการแข่งขันระดับอื่นๆ ในองค์กรภายใต้การควบคุมของฟีบ้า (FIBA) เช่น คณะกรรมการบริหารของโซน (Zone) ในกรณีการแข่งขัน ระดับโซน และระดับทวีปหรือสมาคมกีฬาบาสเกตบอลของชาตินั้นๆ ในกรณีการแข่งขันภายในประเทศ จะมีอำนาจในการรับรองสนามแข่งขันซึ่งมีขนาดตามกำหนดดังต่อไปนี้คือ ความยาวลดลงกว่ามาตรฐานได้ไม่เกิน 4 เมตร และความกว้างลดลงกว่ามาตรฐานได้ไม่เกิน 2 เมตร ทั้งนี้อัตราส่วนของการลดขนาดของสนามต้องเป็นสัดส่วนต่อกัน
สนามที่จะสร้างขึ้นใหม่ต้องมีขนาดตามที่กำหนด เพื่อใช้แข่งขันระดับสำคัญๆ ของฟีบ้า คือ ขนาด 28 x 15 เมตร สำหรับเพดานนั้นให้มีความสูงอย่างน้อย 7 เมตร และพื้นสนามควรได้รับแสงสว่างเพียงพอและทั่วถึงกัน ทั้งนี้ควรติดตั้งโคมไฟโดยมิให้ปิดบังสายตาของผู้เล่นขนาดและพื้นของสนามต้องตรงกับเกณฑ์ที่ระบุไว้ เพื่อใช้แข่งขันระดับสำคัญๆ ของฟีบ้า
เส้นขอบสนาม
สนามแข่งขันต้องมีเส้นขอบสนามอย่างชัดเจน โดยทุกจุดต้องมีระยะห่างจากคนดู ป้ายโฆษณา หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ อย่างน้อย 2 เมตร เส้นขอบสนามทางด้านยาวมีชื่อเรียกว่า เส้นข้าง และเส้นขอบสนามทางด้านสั้นมีชื่อเรียกว่า เส้นหลัง เส้นต่างๆ ที่กล่าวในข้อนี้ และในข้ออื่นๆ จะต้องเห็นได้อย่างชัดเจน และมีขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร
วงกลมกลาง
วงกลมกลางต้องมีรัศมี 1.80 เมตร และอยู่ที่กลางสนาม ให้วัดรัศมีจากขอบนอกของเส้นรอบวง
เส้นกลาง แดนหน้า และแดนหลัง
เส้นกลางต้องลากให้ขนานกับเส้นหลังจากจุดกึ่งกลางของเส้นข้าง และต้องยื่นเลยเส้นข้างออกไปอีกข้างละ 15 เซนติเมตร
แดนหน้าของทีม คือส่วนของสนามระหว่างเส้นหลังที่อยู่ด้านหลังของห่วงประตูของคู่แข่งขันกับขอบด้านใกล้ของเส้น กลาง สำหรับส่วนที่เหลือของสนามรวมทั้งเส้นกลางคือ แดนหลังของทีม
เขตยิงประตูเพื่อทำ 3 คะแนน
เขตยิงประตูเพื่อทำ 3 คะแนน คือส่วนของพื้นสนามที่มีเส้นแสดงเป็นเส้นโค้ง 2 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะเป็นเส้นครึ่งวงกลม ขนาดรัศมี 6.25 เมตร โดยวัดจากขอบนอกของเส้นครึ่งวงกลม ทั้งนี้จะมีศูนย์กลางอยู่ที่จุดของเส้นดิ่งที่ลากผ่านจุดศูนย์กลางของ ห่วงประตูลงจดถึงพื้นสนาม และลากเส้นที่ต่อจากปลายเส้นครึ่งวงกลมให้ขนานกับเส้นข้างบรรจบกับเส้นหลัง ระยะห่างระหว่างจุด กึ่งกลางของเส้นหลังวัดจากขอบในไปยังจุดศูนย์กลางของครึ่งวงกลมคือ 1.575 เมตร
เขต 3 วินาที (เขตกำหนดเวลา) เขตโยนโทษ และเส้นโยนโทษ
เขต 3 วินาที คือพื้นที่ในสนามที่มีเขตตั้งแต่เส้นหลัง เส้นโยนโทษ และเส้นที่ลากจากเส้นโยนโทษไปบรรจบกับเส้นหลังจากจุดกึ่งกลางของเส้นหลังไปสิ้นสุดที่ขอบนอกของเส้นแนวยืนการโยนโทษ ระยะห่าง 3 เมตร
เขตโยนโทษ คือพื้นที่กำหนดที่ต่อจากเขต 3 วินาที เข้าไปในสนามโดยทำครึ่งวงกลมรัศมี 1.80 เมตร และมีจุดศูนย์กลางที่กึ่งกลางของเส้นโยนโทษ ให้ทำครึ่งวงกลมขนาดเดียวกัน แต่ตีเส้นปะเข้าไปในเขต 3 วินาทีด้วย
ช่องยืนตามแนวการโยนโทษ เป็นช่องที่ผู้เล่นยืนขณะมีการโยนโทษ ซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ
เส้นแรกของช่องที่จะต้องอยู่ห่างจากขอบในของเส้นหลัง 1.75 เมตร วัดตามแนวของเส้นแนวยืนโยนโทษ พื้นที่ของช่องแรกจะมีเส้นกำหนดห่างจากเส้นแรก 85 เซนติเมตร ส่วนช่องที่สองจะอยู่ถัดจากเขตปลอดผู้เล่น (Neutral Zone) ซึ่งมีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ส่วนช่องที่สองจะอยู่ถัดจากเขตปลอดผู้เล่น และมีขนาดกว้าง 85 เซนติเมตร ถัดจากเส้นกำหนดช่องที่สองจะเป็นช่องที่สามซึ่งมีขนาด 85 เซนติเมตรเช่นเดียวกัน เส้นที่แสดงช่องต่างๆ เหล่านี้มีความยาว 10 เซนติเมตร และกว้าง 5 เซนติเมตรตั้งฉากกับเส้นแนวยืนการโยนโทษ และให้ลากจากขอบนอกของพื้นที่เขตกำหนดเวลา
เส้นโยนโทษ จะต้องลากให้ขนานกับเส้นหลัง โดยมีขอบนอกห่างจากขอบในของเส้นหลัง 5.80 เมตร และยาว 3.60 เมตรจุดกึ่งกลางของเส้นโยนโทษต้องอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันกับจุดกึ่งกลางของเส้นหลังทั้งสองเส้น
พื้นที่นั่งของทีม พื้นที่นั่งของทีม กำหนด ณ พื้นที่นอกเขตสนามทางด้านเดียวกันกับโต๊ะเจ้าหน้าที่ พื้นที่กำหนดคือเส้นตรงยาว 2 เมตร ที่ลากต่อจากเส้นหลัง และเส้นตรงยาว 2 เมตร ลากจากจุดที่ห่างจากเส้นกลาง 5 เมตร ให้ตั้งฉากกับเส้นข้าง เส้นตรง 2 เมตรจะต้องมีสีแตกต่างจากสีของเส้นข้างและเส้นหลัง
กระดานหลัง (แป้น) ขนาด วัสดุ และตำแหน่งที่ติดตั้ง กระดานหลังจะต้องทำจากไม้เนื้อแข็งหนา 3 เซนติเมตร หรือเป็นวัสดุโปร่งใสที่เหมาะสม (แผ่นเดียวและมีความหนาแน่นเช่นเดียวกับไม้เนื้อแข็ง)
การแข่งขันระดับโอลิมปิกและชิงแชมเปี้ยนโลก กระดานหลังจะต้องมีขนาดความยาว 1.80 เมตร กว้าง 1.05 เมตรและขอบล่างสูงจากพื้นสนาม 2.90 เมตร
สำหรับการแข่งขันระดับอื่นๆ ให้องค์กรภายใต้การควบคุมของฟีบ้า เช่น คณะกรรมการบริหารของโซนในกรณีการแข่งขันของโซนหรือทวีป หรือสมาคมกีฬาบาสเกตบอลของชาตินั้นๆ สำหรับการแข่งขันของโซนหรือทวีป หรือสมาคมกีฬาบาสเกตบอลของชาตินั้นๆ สำหรับการแข่งขันภายในประเทศ จะมีอำนาจในการรับรองขนาดของกระดานหลัง ซึ่งจะเป็นขนาดยาว 1.80 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ขอบล่างสูงจากพื้นสนาม 2.75 เมตร หรือขนาดยาว 1.80 เมตร กว้าง 1.05 เมตร และมีขอบล่างสูงจากพื้นสนาม 2.90 เมตรก็ได้
ส่วนกระดานหลังที่ติดตั้งใหม่ทั้งหมด จะต้องมีขนาดเท่ากับที่ระบุไว้สำหรับการแข่งขันระดับโอลิมปิก และชิงแชมเปี้ยนโลก คือขนาด 1.80 x 1.05 เมตร พื้นด้านหน้าของกระดานหลังต้องเรียบและมีสีขาว ยกเว้นกระดานหลังที่เป็นแบบโปร่งใส ให้มีเครื่องหมายต่อไปนี้ที่พื้นด้านหน้าของกระดานหลังคือ ทำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังห่วง โดยมีเส้นขอบหนา 5 เซนติเมตร มีขนาดยาวตามแนวนอน 59 เซนติเมตร และกว้าง 45 เซนติเมตร ทั้งนี้ให้ขอบบนเส้นล่างของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ในระดับเดียวกันกับห่วง และขอบของกระดานหลังจะต้องตีกรอบด้วยเส้นหนา 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นแบบโปร่งใสให้ใช้สีขาวทำกรอบ นอกจากนั้นให้ใช้สีดำทำกรอบ ทั้งขอบของกระดานหลัง และสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในกระดานหลังจะต้องมีสีเดียวกัน
กระดานหลังจะต้องติดตั้งอย่างมั่นคงที่ด้านเส้นหลังของสนามแต่ละข้าง และยื่นเข้าไปในสนามให้ตั้งฉากกับพื้นสนาม และขนานกับเส้นหลัง จุดศูนย์กลางของกระดานหลังห่างจากจุดกึ่งกลางของเส้นหลังวัดจากขอบใน 1.20 เมตร ส่วนเสาที่ยึดกระดานหลังจะต้องห่างจากขอบนอกของเส้นหลังอย่างน้อย 1 เมตร และทาสีสดใสตัดกับสีด้านหลัง เพื่อให้ผู้เล่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ขอบล่างของกระดานหลังให้บุขอบล่างของกระดานหลัง และขอบด้านข้างสูงขึ้นไปอย่างน้อย 35 เซนติเมตร พื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังของกระดานหลังจะต้องถูกบุอย่างน้อย 2 เซนติเมตรต่อจากขอบล่าง ทั้งนี้วัสดุที่ใช้บุจะต้องหนาไม่ต่ำกว่า 2 เซนติเมตร ส่วนขอบล่างของกระดานหลังจะต้องบุด้วยวัสดุที่หนาไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร อุปกรณ์ที่ใช้ยึดกระดานหลังซึ่งอยู่ด้านหลัง และสูงจากพื้นสนามไม่ถึง 2.75 เมตร จะต้องบุพื้นผิวของอุปกรณ์นั้นๆ เป็นระยะทาง 60 เซนติเมตร วัดจากด้านหน้าของกระดานหลังออกไป สำหรับกระดานหลังที่โยกย้ายเคลื่อนที่ได้ซึ่งมีฐานรองรับ จะต้องบุพื้นผิวด้านเขตสนามขึ้นสูง 2.15 เมตร
ห่วงประตู
ห่วงต้องเป็นเหล็กตัน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวัดจากขอบในของห่วง 45 เซนติเมตร ทาด้วยสีส้ม เหล็กที่ทำห่วงต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 1.70 เซนติเมตร และขนาดใหญ่ที่สุด 2 เซนติเมตร โดยมีตะขอเล็ก ๆ เกี่ยวอยู่ข้างล่าง หรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเพื่อใช้ยึดเกี่ยวตาข่าย ห่วงต้องติดแน่นกับกระดานหลัง และอยู่ในแนวขนานกับพื้นสนาม สูงจากพื้นสนาม สูงจากพื้นสนาม 3.05 เมตร ทั้งนี้ต้องอยู่กึ่งกลางด้านตั้งของกระดานหลัง ขอบห่วงด้านที่ใกล้กับกระดานหลังจะห่างจากพื้นด้านหน้าของกระดานหลัง 15 เซนติเมตร
ตาข่ายต้องเป็นเส้นด้ายสีขาวผูกติดกับห่วง และมีลักษณะช่วยต้านลูกบอลเล็กน้อย เพื่อให้เป็นที่สังเกตขณะที่ลูกบอลผ่านลงไปในห่วงประตู ตาข่ายมีความยาว 40 เซนติเมตร
ห่วงที่ยุบตัวได้ (เพราะแรงอัดแบบไฮดรอลิก) จะต้องตรงกับเกณฑ์กำหนดต่อไปนี้
1. จะต้องมีลักษณะการคืนตัวเหมือนกับห่วงปกติที่ไม่ยุบตัว อุปกรณ์กลไกที่ทำให้เกิดการยุบตัวต้องแน่นอนที่จะควบคุมการคืนตัวดังกล่าว พร้อมกับช่วยป้องกันห่วงและกระดานหลัง การออกแบบห่วงและการสร้างห่วงควรจะประกันความปลอดภัยของผู้เล่นได้
2. ห่วงที่มีกลไกเฉพาะสำหรับล็อคกลไกของการยุบตัว จะต้องไม่ทำงานจนกว่าจะมีน้ำหนักถึง 105 กิโลกรัม ณ ปลายสุดด้านบนของห่วง
3. เมื่อยุบตัว การหย่อนของห่วงต้องไม่เกินกว่า 30 องศา จากตำแหน่งแนวระดับเดิม
4. หลังจากการยุบตัวและไม่มีน้ำหนักถ่วงอยู่ต่อไปแล้ว ห่วงจะต้องคืนตัวสู่ตำแหน่งเดิมโดยอัตโนมัติทันทีลูกบอล วัสดุ ขนาด และน้ำหนัก
ลูกบอลต้องเป็นทรงกลม และมีสีส้มตามที่ได้รับรองแล้ว โดยมีเปลือกนอกทำด้วยหนัง ยาง หรือวัสดุสังเคราะห์ ทั้งนี้จะมีเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 74.9 เซนติเมตร และไม่เกิน 78 เซนติเมตร หนักไม่น้อยกว่า 567 กรัม และไม่เกิน 650 กรัม จะต้องสูบลมให้แข็งโดยประมาณว่าเมื่อปล่อยลูกบอลจากที่สูงประมาณ 1.80 เมตรลงสู่พื้นไม้แข็งหรือพื้นสนามแข่งขัน ลูกบอลจะกระดอนขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.20 เมตร หรือสูงไม่เกิน 1.40 เมตร เมื่อวัดจากส่วนบนของลูกบอล ตะเข็บและ / หรือร่องของรอยต่อลูกบอลจะต้องไม่เกิน 0.635 เซนติเมตร
ทีมเหย้าต้องจัดหาลูกบอลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างน้อย 1 ลูก สำหรับแข่งขัน ทั้งนี้ผู้ตัดสินที่หนึ่งมีอำนาจเพียงผู้เดียว ที่จะตัดสินว่าลูกบอลใดเข้าเกณฑ์ของกติกา และอาจเลือกเอาลูกบอลที่ทีมเยือนจัดหามาใช้แข่งขันก็ได้อุปกรณ์ทางเทคนิค
อุปกรณ์ทางเทคนิคต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของทีมเหย้าจะต้องจัดเตรียมไว้ และมีพร้อมไว้ให้ผู้ตัดสินและผู้ช่วงผู้ตัดสิน คือ
1. นาฬิกาจับเวลาการแข่งขัน และนาฬิกาจับเวลานอก ผู้จับเวลาต้องมีนาฬิกาจับเวลาการแข่งขัน และนาฬิกาจับเวลาธรรมดา เพราะนาฬิกาจับเวลาการแข่งขันมีไว้สำหรับจับเวลานอก นาฬิกาทั้งสองเรือนนี้จะต้องจัดตั้งไว้ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนโดยผู้จับเวลาและผู้บันทึก
2. นาฬิกาจับเวลา 30 วินาที เป็นอุปกรณ์จำเป็นที่จะต้องติดตั้งให้สามารถมองเห็นได้ทั้งผู้เล่นและผู้ชม และดำเนินการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่จับเวลา 30 วินาที
3. ใบบันทึก จะต้องเป็นแบบที่กำหนดโดยสหพันธ์บาสเกตบอลสมัครเล่นนานาชาติ และต้องให้ผู้บันทึกเป็นผู้ดำเนินการกรอกข้อความก่อนการแข่งขัน และระหว่างที่การแข่งขันตามที่ระบุไว้ในกติกา
4. อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์เพื่อแสดงสัญญาณ 3 ชนิด ที่ระบุไว้ในกติกา นอกจากนั้นยังจะต้องมีป้ายบอกคะแนนที่สามารถมองเห็นโดยผู้เล่น ผู้ชมและเจ้าหน้าที่โต๊ะ
5. ป้ายแจ้งหมายเลขตั้งแต่ 1 ถึง 5 ต้องจัดให้ผู้บันทึกทุกครั้งที่ผู้เล่นกระทำฟาวล์ ผู้บันทึกต้องยกป้ายนี้แสดงจำนวนฟาวล์ของผู้เล่นคนนั้นให้สามารถมองเห็นได้โดยโค้ชทั้งสองทีม ป้ายนี้ให้มีพื้นสีขาว และเขียนหมายเลข 1 ถึง 4 ด้วยสีดำ ส่วนหมายเลข 5 เขียนด้วยสีแดง โดยมีขนาดของป้ายอย่างน้อย 20 x 10 เซนติเมตร
6. ต้องจัดเครื่องหมายแสดงจำนวนการฟาวล์ของทีมให้แก่ผู้บันทึก ซึ่งเครื่องหมายนี้จะเป็นสีแดง จัดตั้งไว้บนโต๊ะเจ้าหน้าที่เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายโดยผู้เล่น โค้ช และผู้ตัดสิน ทันทีที่ลูกบอลเข้าสู่การเล่นภายหลังการฟาวล์ของผู้เล่นครั้งที่ 7 ของทีมนั้นๆ ให้แสดงเครื่องหมายนี้บนโต๊ะเจ้าหน้าที่ทางด้านที่นั่งของทีมที่กระทำฟาวล์ของผู้เล่นครั้งที่ 7
7. เครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อแสดงจำนวนฟาวล์ของทีม สถานที่ และอุปกรณ์ที่ระบุไว้เพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไปนี้จะ ต้องได้รับการอนุมัติจากฟีบ้า คือ โอลิมปิก ชิงแชมเปี้ยนโลก สำหรับประเภทชาย ประเภทหญิง เยาวชนชาย เยาวชนหญิง และสำหรับประเภทชายอายุไม่เกิน 22 ปี
1. ที่นั่งสำหรับผู้ชมในสนามแข่งขัน จะต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่า 6,000 ที่นั่ง สำหรับระดับชิงแชมเปี้ยนโลก เยาวชนชาย เยาวชนหญิง และสำหรับประเภทชายอายุไม่เกิน 22 ปี และต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่า 12,500 ที่นั่งสำหรับระดับโอลิมปิก และชิงแชมเปี้ยนโลก สำหรับประเภทชายและหญิง
2. พื้นสนามที่ใช้แข่งขันต้องทำด้วยไม้หรือวัสดุอื่นซึ่งมีคุณลักษณะเหมือนไม้ และได้รับความเห็นชอบโดย ฟีบ้า สนามแข่งขันต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าราบเรียบ มีพื้นแข็ง ขนาดยาว 28 เมตร และกว้าง 15 เมตร เมื่อสนามแข่งขันออกแบบโดยไม่ตีเส้นขอบสนาม ซึ่งมีความหนา 5 เซนติเมตรไว้ แต่ใช้สีซึ่งตัดกันเป็นสิ่งกำหนดพื้นที่ของเขตสนาม และพื้นที่นอกเขตสนามแล้ว ให้ถือว่าเส้นที่แบ่งสีที่ตัดกันนั้นเป็นขอบในของเส้นสนาม
3. จะต้องมีกระดานหลังเป็นวัสดุโปร่งใส ทำด้วยวัสดุที่มีความหนาแน่นเหมือนไม้ที่มีความหนา 3 เซนติเมตร มีขนาดยาวตามแนวนอน 1.80 เมตร และกว้างตามแนวตั้ง 1.05 เมตร ทั้งนี้ขอบล่างของกระดานหลังจะต้องสูงจากพื้นสนาม 2.90 เมตร
4. อุปกรณ์ที่ใช้ยึดกระดานหลัง จะต้องตั้งอยู่นอกเขตสนามห่างจากขอบนอกของเส้นหลังอย่างน้อย 2 เมตรและต้องมีสีสดใสตัดกับสีด้านหลัง เพื่อให้ผู้เล่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน
5. ลูกบอลต้องทำด้วยหนังและได้รับอนุมัติจากฟีบ้า ฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องจัดหาลูกบอลอย่างน้อย 12 ลูก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน เพื่อการใช้ฝึกซ้อม และอบอุ่นร่างกายก่อนเริ่มการแข่งขัน แสงสว่างที่ใช้กับสนามแข่งขันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1,500 ลักซ์ (Lux) ซึ่งวัดความสว่างระดับความสูง 1 เมตร เหนือพื้นสนาม แสงสว่างดังกล่าวต้องตรงกับเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย
6. สนามแข่งขันจะต้องติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้ ซึ่งจะต้องให้เห็นเด่นชัดจากโต๊ะเจ้าหน้าที่ สนามแข่งขัน และที่นั่งของทีม คือ
6.1 ป้ายแสดงคะแนนขนาดใหญ่สองป้าย แต่ละป้ายติดนาฬิกาชนิดตัวเลขที่นับถอยหลังซึ่งมองเห็นได้เด่นชัด พร้อมกับมีอุปกรณ์ที่ให้สัญญาณเสียงอัตโนมัติที่ดังมากๆ เพื่อบอกการสิ้นสุดเวลาการแข่งขันในแต่ละครึ่งเวลา และเวลาเพิ่มพิเศษ นาฬิกาจะต้องออกแบบอย่างสมบูรณ์และแสดงเวลาที่เหลือตลอดการแข่งขัน และอย่างน้อยที่สุดในช่วง 60 วินาที นาทีสุดท้ายของแต่ละครึ่ง และเวลาเพิ่มพิเศษ จะต้องแสดงเวลาทุก 1/10 วินาที ผู้ตัดสินที่หนึ่งจะเป็นผู้กำหนดให้นาฬิกาเรือนหนึ่งเป็นนาฬิกาจับเวลาของการแข่งขัน ป้ายแสดงคะแนนจะต้องบอกคะแนนที่แต่ละทีมทำได้ พร้อมกับบอกจำนวนฟาวล์ของผู้เล่นในแต่ละทีม ขบวนการดังกล่าวมิได้หมายความว่าให้ติดป้ายแสดงการฟาวล์ที่เจ้าหน้าที่บันทึกใช้แจ้งจำนวนฟาวล์
6.2 อุปกรณ์อัตโนมัติที่ใช้จับเวลา 30 วินาที ชนิดตัวเลขนับถอยหลังแสดงเวลาเป็นวินาที จะต้องมีอุปกรณ์ดังกล่าว 2 ชุด ถ้าติดตั้งตรงแนวส่วนบนของกระดานหลัง หรือมี 4 ชุด ถ้าติดตั้งด้วยความเหมาะสมตามมุมของสนามแข่งขัน อุปกรณ์ 30 วินาทีจะต้องพ่วงเข้ากับนาฬิกาที่จับเวลาการแข่งขัน ทั้งนี้เมื่อเวลาหมดลงเป็น " ศูนย์ " จะมีสัญญาณดังขึ้น ก็จะทำให้หยุดเวลาการแข่งขันโดยอัตโนมัติด้วย
6.3 อุปกรณ์ที่มีแสงสว่างเพื่อบอกจำนวนฟาวล์ของแต่ละทีม ซึ่งควรมีตัวเลขจาก 1 ถึง 7
6.4 สัญญาณเสียงที่แยกกัน 3 ชุด และมีเสียงแตกต่างกันจะต้องจัดให้มีคือ ชุดหนึ่งเพื่อให้แก่เจ้าหน้าที่จับเวลา ซึ่งจะต้องส่งสัญญาณเสียงโดยอัตโนมัติเมื่อสิ้นสุดเวลาการแข่งขันในแต่ละครั้ง หรือแต่ละครั้งเพื่อบอกการสิ้นสุดเวลาการแข่งขัน อีกชุดหนึ่งเพื่อให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จับเวลา 30 วินาที อุปกรณ์ทั้ง 3 ชุดนี้จะต้องมีสัญญาณเสียงดังมากพอที่จะได้ยินอย่างชัดเจนภายใต้สถานการณ์วุ่นวาย หรือเสียงรบกวนอื่นๆ
7. เขต 3 วินาที (เขตกำหนดเวลา) และวงกลมกลางจะต้องเป็นสีที่แตกต่างจากสีของพื้นสนามแข่งขันมาตรฐานที่กำหนดไว้ข้างต้น ควรจะนำไปใช้ในการแข่งขันระดับสำคัญอื่นๆ ด้วย

กติกาบาสเกตบอล

บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เล่นระหว่างผู้เล่น 2 ชุด ชุดละ 5 คน โดยมีจุดมุ่งหมายว่า แต่ละชุดต้องนำลูกบอลไปโยนให้ลงห่วงประตูของคู่แข่งขัน และพยายามป้องกันมิให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ครอบครองลูกบอล หรือทำคะแนน ทั้งนี้ผู้เล่นอาจจะส่ง โยน ปัดกลิ้ง หรือเลี้ยงลูกบอลไปยังทิศทางใดก็ได้ให้ถูกต้องตามกติกาทีม
แต่ละทีมจะประกอบไปด้วยผู้เล่นไม่เกิน 10 คน และโค้ช 1 คน ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งจะเป็นหัวหน้าทีม แต่ละทีมอาจจะมีผู้ช่วยโค้ชอีก 1 คน สำหรับทัวร์นาเมนต์ที่ทีมนั้นจะต้องแข่งขันมากกว่า 3 ครั้ง จำนวนผู้เล่นในแต่ละทีมอาจจะเพิ่มเป็น 12 คนก็ได้ ผู้เล่น 5 คนของแต่ละทีมจะต้องอยู่ในสนามแข่งขันระหว่างเวลาการแข่งขัน และสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ตามที่ระบุไว้ในกติกา
ผู้เล่นของทีมคือผู้เล่นที่อยู่ในสนามแข่งขัน และถูกกำหนดว่าจะลงแข่งขันนอกเหนือจากนี้แล้วจะเป็นผู้เล่นสำรอง ดังนั้นผู้เล่นสำรองจะกลายเป็นผู้เล่นเมื่อผู้ตัดสินได้ให้สัญญาณแจ้งให้เขาเข้าไปในสนามแข่งขัน และผู้เล่นจะกลายเป็นผู้เล่นสำรองทันทีที่ผู้ตัดสินได้ส่งสัญญาณแก่ผู้ที่จะเข้ามาแทนผู้เล่นคนนั้นให้เข้าไปในสนามแข่งขัน ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องมีหมายเลขที่ด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อที่ตนสวมใส่ โดยมีลักษณะเรียบธรรมดา (ไม่มีลวดลาย) และมีสีทึบติดกับเสื้อ หมายเลขจะต้องเด่นชัด สำหรับหมายเลขที่ติดด้านหลังจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร และหมายเลขที่ติดด้านหน้าจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ทำด้วยวัสดุที่กว้างไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร ทีมหนึ่ง ๆ จะต้องใช้หมายเลขตั้งแต่ 4 ถึง 15 ผู้เล่นในทีมเดียวกันจะต้องไม่ใช้หมายเลขซ้ำกัน
ชุดที่ผู้เล่นสวมใส่จะต้องประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้
- เสื้อทีม จะเป็นสีเดียว มีลักษณะทึบสม่ำเสมอเหมือนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ต้องสวมใส่โดยผู้เล่นทุกคนในทีมนั้นเสื้อที่มีลายทางแบบริ้วลายจะไม่อนุญาตให้ใช้
- กางเกงขาสั้น จะเป็นสีเดียว มีลักษณะทึบสม่ำเสมอเหมือนกันทั้งทีม และจะต้องสวมใส่โดยผู้เล่นทุกคนในทีมนั้น
- เสื้อคอกลม (ทีเชิ้ต) อาจจะสวมใส่ได้ภายในเสื้อทีม แต่ถ้าสวมเสื้อคอกลมจะต้องใช้เสื้อคอกลมมีสีเดียว และให้เหมือนกับสีของเสื้อทีม
- ชุดชั้นในของกางเกง ที่ยื่นเลยต่ำกว่ากางเกงขาสั้น อาจจะสวมใส่ได้โดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีสีเดียว และเหมือนกับกางเกงขาสั้น
ในกรณีที่เสื้อทีมมีสีตรงกันให้ทีมเหย้าเปลี่ยนสีเสื้อทีมเมื่อแข่งขันที่สนามกลาง หรือในทัวร์นาเมนต์ทีมที่มีชื่อแรกในโปรแกรมการแข่งขัน และต้องเป็นชื่อแรกในใบบันทึกจะต้องเปลี่ยนสีเสื้อทีม เพราะในทัวร์นาเมนต์หนึ่งๆ แต่ละทีมจะต้องมีเสื้อทีมอย่างน้อย 2 ชุด คือชุดที่เป็นสีจาง และชุดที่เป็นสีเข้ม
สำหรับการแข่งขันที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ให้ทีมที่มีชื่อแรกในโปรแกรมการแข่งขัน (ทีมเหย้า) สวมเสื้อสีจาง และทีมที่มีชื่อที่สอง (ทีมเยือน) สวมเสื้อสีเข้ม
สำหรับการแข่งขันระดับสำคัญๆ ของฟีบ้า ผู้เล่นในทีมเดียวกันจะต้องปฏิบัติดังนี้
1. สวมรองเท้าซึ่งมีสีเหมือนกัน
2. สวมถุงเท้าซึ่งมีสีเหมือนกัน
ผู้เล่นออกจากเขตสนามแข่งขัน
จะไม่อนุญาตให้ผู้เล่นออกจากเขตสนาม เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม
หัวหน้าทีม หน้าที่ และอำนาจ
เมื่อมีเหตุจำเป็น หัวหน้าทีมจะต้องเป็นผู้แทนของทีมในสนามแข่งขันสามารถพูดกับผู้ตัดสินเพื่อขอคำอธิบาย หรือเพื่อขอทราบข้อมูลที่จำเป็น แต่ต้องกระทำด้วยความสุภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น